เพิ่มเพื่อน
Good Governance
การกำกับดูแลกิจการที่ดี
กทท. มีความเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลที่ดี ที่ประกอบไปด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี การมีคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีกลไกการควบคุมและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่ม มูลค่าและผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาวซึ่งคณะกรรมการ กทท.เห็นควรให้กำหนดหลักการกำกับดูแลองค์กรที่ดี เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ กทท. มีดังนี้
  • ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเองและสามารถชี้แจง/อธิบายการตัดสินใจนั้นได้ หรือ Accountability
  • ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยขีดความสามารถ และประสิทธิภาพเพียงพอ หรือ Responsibility
  • การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียเท่าเทียมกัน เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และมีคำอธิบายได้หรือ Equitable Treatment
  • ความโปร่งใสในการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หรือ Transparency
  • การมีวิสัยทัศน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการในระยะยาว หรือ Vision to Create Long Term value
  • การมีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ หรือ Ethics
    • เพื่อเสริมสร้างระบบบริหารจัดการ ที่ดี โปร่งใสและมีมาตรฐานที่ชัดเจนเป็นสากลซึ่งจะช่วยให้ กทท. มีศักยภาพในการแข่งขันป้องกันและขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น
    • สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการทั้งภายในและภายนอกประเทศ และมีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร
    • สร้างกรอบความรับผิดชอบของคณะกรรมการ กทท. และผู้บริหารต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อให้ใช้อำนาจภายในขอบเขตที่กำหนด
ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับดูแล กทท.จะต้องมีการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ ตลอดจนจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ สำหรับการบริหารภายในองค์กรตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติขององค์กรที่ได้มาตรฐานและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
 
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ กทท.
คณะกรรมการ กทท. มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้ กทท.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจท่าเรือและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง กับกิจการท่าเรือโดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร และมีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจที่มีความโปร่งใสเป็นธรรมและตรวจสอบได้ เพื่อให้คณะกรรมการกทท.ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้

1. คณะกรรมการ กทท. ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมุ่งมั่นที่จะนำหลักสำคัญใน การกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้ง 6 ประการได้แก่ Accountability, Responsibility, Equitable Treatment, Transparency, Vision to Create Long Term value and Ethics มาใช้ในการบริหารงาน ภายในองค์กรอย่างเป็นธรรม

2. มีการจัดแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการ กทท. คณะกรรมการชุดเฉพาะเรื่อง และฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน ดังนี้
 
2.1 บทบาทของคณะกรรมการ กทท.

2.1.1 ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์
คณะกรรมการ กทท. มีความมุ่งมั่นที่จะให้ กทท. เป็นองค์กรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ ในระดับสากล โดยดำเนินธุรกิจท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือที่มีความหลาก หลาย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการบริหารจัดการที่แข็งแกร่ง และด้วยบุคลากรที่มีความสามารถและมีส่วนร่วมใน วิสัยทัศน์ภารกิจและกลยุทธ์
2.1.2 ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ กทท.
คณะกรรมการ กทท. มีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และรับผิดชอบตามหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารงานของฝ่ายบริหารและคณะ กรรมการอื่น ๆ เพื่อการกำกับดูแลพิจารณาในการเพิ่มมูลค่าแก่องค์กร
2.1.3 บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ กทท.
- ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับขององค์กร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และจะต้องระวังรักษาประโยชน์ขององค์กร
- กำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรและกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตาม นโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดแก่องค์กร
- ให้ความเห็นชอบแผนต่าง ๆ และนโยบายที่สำคัญขององค์กร
- พิจารณาอนุมัติรายการที่สำคัญ เช่น โครงการ/งาน/ธุรกิจใหม่ การซื้อ/ขายทรัพย์สิน การดำเนินการใดๆ ที่กฎหมายกำหนด การซื้อ/การจ้าง ตามอำนาจและวงเงินที่กำหนดให้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบพัสดุ กทท.
- จัดให้มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน และการตรวจสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ รวมทั้งดูแลให้มีกระบวนการในการประเมินติดตามผลของการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- ดูแลไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร
- มีอำนาจว่าจ้างที่ปรึกษา หรือบุคคลภายนอกตามระเบียบของกทท.มาให้ความเห็นหรือคำปรึกษาในกรณีจำเป็น
- รับผิดชอบต่อผลประกอบการ และการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารโดยให้มีความตั้งใจ และความระมัดระวังการปฏิบัติงาน
- กำกับดูแลกิจการโดยมีการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม

2.2 บทบาทของคณะกรรมการชุดเฉพาะเรื่อง
 
2.2.1 ให้มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง เพื่อทำหน้าที่ช่วยศึกษา และกลั่นกรองเรื่อง เพื่อพิจารณาของคณะกรรมการ กทท.
2.2.2 ให้มีคณะกรรมการชุดเฉพาะเรื่อง ประกอบด้วย

1) คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- สอบทานให้องค์กรมีรายงานทางการเงินถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และมีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ
- พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลขององค์กร ในกรณีที่เกิดรายการที่ เกี่ยวโยงหรือ รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- สอบทาน และให้ความเห็นต่อแผนตรวจสอบภายในการปฏิบัติงานของสำนักตรวจสอบภายใน
- รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบให้คณะกรรมการ กทท.ทราบอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ กทท. มอบหมาย

2) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- พิจารณาและอนุมัตินโยบายกรอบการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
- พิจารณาและอนุมัติแผนบริหารความเสี่ยง
- กำกับและติดตามการบริหารความเสี่ยง และควบคุมภายในให้เป็นไปตามกรอบการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
- เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือให้ข้อมูล และขอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
- รายงานผลการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในให้คณะกรรมการ กทท. ทราบ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

3) คณะกรรมการกำกับดูแล กทท. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- กำกับดูแลการบริหารงานของ กทท. ให้เป็นไปตามหลักการ บริหารจัดการองค์กรที่ดี (Good Governance) และนโยบายของคณะกรรมการ กทท.
- กำหนดทิศทาง และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กรที่ดี (Good Governance)
- ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเสนอคณะกรรมการ กทท. เป็นระยะ
- ตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานได้ตามความจำเป็น
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการ กทท. มอบหมาย

4) คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กทท. ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการแรงงานสัมพันธ์
- หาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งใน กทท.
- พิจารณาปรับปรุงระเบียบข้อบังคับในการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง ลูกจ้างและ กทท.
- ปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาตามคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือสหภาพแรงงาน รวมถึงการร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยปรึกษาหารือเพื่อพิจารณา ปรับปรุงสภาพการจ้างงาน

5) คณะกรรมการกำกับดูแลงานด้านโลจิสติกส์ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- กำกับดูแล และติดตามความคืบหน้าของแผนงานและโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของการท่า เรือฯให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย ตลอดจนกลยุทธ์ในการควบคุมประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและการปฏิบัติงาน ตาม นโยบายของคณะกรรมการ กทท.
- เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล คำปรึกษา หรือขอเอกสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานของ กทท. ได้ตามความจำเป็น
- ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเสนอคณะกรรมการ กทท. เป็นระยะ
- ตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานได้ตามความจำเป็น
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการการ กทท. มอบหมาย

2.3 บทบาทของฝ่ายบริหาร

- กำหนดนโยบาย และกลยุทธ์การดำเนินกิจการท่าเรือและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ กิจการท่าเรือให้สอดคล้องและสนับสนุนต่อภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันเสนอให้คณะกรรมการ กทท. เห็นชอบ
- กำหนดแผนวิสาหกิจ แผนการเงิน แผนงบประมาณ แผนบริหารสินทรัพย์ขององค์กร และแผนอื่น ๆ เสนอให้คณะกรรมการ กทท. เห็นชอบ - ตรวจสอบติดตามการดำเนินนโยบาย และแนวทางการบริหารงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเอื้อต่อสภาพการดำเนินธุรกิจ
- ตรวจสอบติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นไปตามแผนที่ได้รับอนุมัติไว้
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ กทท. มอบหมาย
3. คณะกรรมการ กทท. ต้องมีการประเมินผลตนเองรายปี เพื่อใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กทท.

4. การเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส กทท. มีนโยบายเปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญต่อสาธารณชน ดังนี้
4.1 โครงสร้างองค์กร วิสัยทัศน์ ผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และนโยบายที่สำคัญ
4.2 รายชื่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ และค่าตอบแทน
4.3 จำนวนครั้งที่กรรมการ และ/หรืออนุกรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมโดยเปรียบเทียบจำนวนครั้งของ การประชุมคณะกรรมการ และ/หรือ คณะอนุกรรมการในแต่ละปี
4.4 ปัจจัยและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงที่สามารถมองเห็นได้ทั้งที่เกี่ยวกับ การดำเนินงานและการเงิน
4.5 รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ต่อรายงานทางการเงิน และแสดงควบคู่กับรายงานผู้สอบบัญชี
4.6 รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
4.7 เปิดเผยข้อมูลอื่นๆ ตามที่กำหนดโดยกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้มีการรายงานเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานประจำปี และผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Website เป็นต้น
5. ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ และมีช่องทางในการสื่อสารกับ กทท. อย่างเหมาะสม

6. จรรยาบรรณต่อผู้มีส่วนได้เสีย
6.1 จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการกทท.มุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจ และมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ โดยมีการสำรวจความพึงพอใจผู้ใช้บริการเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการอย่างถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน
6.2 จรรยาบรรณว่าด้วยการรายงานการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีหน้าที่ต้องรายงานการปฏิบัติที่อาจขัดต่อจรรยาบรรณ ในกรณีที่พบเห็นหรือถูกกดดัน / บังคับให้กระทำการใดๆ ที่เป็นการขัดต่อจรรยาบรรณ ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารระดับสูง หรือฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล หรือฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล หรือคณะกรรมการจรรยาบรรณ หรือคณะกรรมการตรวจสอบแล้วแต่กรณี
กทท. มีนโยบายที่จะ รักษาข้อมูลของผู้ที่รายงานเป็นความลับ และคุ้มครองผู้ที่รายงานเป็นอย่างดี และผู้รายงานไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ หากเป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร
กทท. มีความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ และยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
6.4 จรรยาบรรณว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
- กทท. มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรีและเป็นธรรม
- กทท. ไม่มีนโยบายในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย และขัดต่อจริยธรรม
6.5 จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- กทท. มีนโยบายในการให้บริการใด ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
- กทท. ส่งเสริมกิจกรรมดูแลรักษาธรรมชาติ และอนุรักษ์พลังงาน และมีนโยบายที่จะคัดเลือกและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6.6 จรรยาบรรณว่าด้วยรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- กทท. มีการดำเนินการและรายงานตามประกาศ กทท.เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
6.7 จรรยาบรรณว่าด้วยการจัดการและรักษาจรรยาบรรณ
- กำหนดให้มี คณะกรรมการจรรยาบรรณ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้
ดูแลปรับปรุงคู่มือจริยธรรมของคณะกรรมการ กทท.
ผู้บริหาร และพนักงานให้มีความเหมาะสมและทันสมัย
  • พิจารณาเกี่ยวกับการกระทำ ซึ่งอาจฝ่าฝืนจรรยาบรรณ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • จัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการ กทท. ทราบเป็นประจำทุกปี
  • ดูแลการฝึกอบรมพนักงาน ให้มีความรู้ความเข้าใจจริยธรรม และจรรยาบรรณ รวมทั้งเสริมสร้างให้พนักงานทุกคนยึดถือและปฏิบัติ
7. คณะกรรมการ กทท. ต้องเป็นผู้นำในเรื่องจริยธรรมเป็นตัวอย่างใน การปฏิบัติงานตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ กทท. และสอดส่องดูแลในเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน