:: ระบบ AIS คืออะไร :: การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะทำการติดตั้งระบบ AIS ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และระบบ VTS ที่ท่าเรือกรุงเทพ ภายในปีงบประมาณ 2549 ( ท่าเรือแหลมฉบังคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2548 ) โดยมีวัตถุประสงค์ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารและติดตามความเคลื่อนไหวของเรือสินค้าบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และร่องน้ำเจ้าพระยา เพื่อแจ้งสถานะตำบลที่ของเรือสินค้าตามเวลาจริงให้กับผู้ใช้บริการ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการนำเรือเข้าหรือออกจากท่าเทียบเรือ ด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่น - ชื่อเรือ สัญชาติเรือ ประเภทเรือ เอเย่นต์เรือ ฯ - ตำบลที่ของเรือตามเวลาจริง - ทิศของหัวเรือ และเส้นทางการเดินเรือ - ความเร็วของเรือ - วันเวลาผ่านสถานีนำร่อง - สถานที่เทียบหรือจอดเรือ - กำหนดการเข้า - ออกของเรือสินค้าประจำวัน การบริการด้านข้อมูลข่าวสารเรือสินค้า และระบบ AIS การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีโครงการที่จะให้ผู้ที่สนใจและผู้ต้องการทราบข้อมูลข่าวสารเรือสินค้า และระบบ AIS สามารถร่วมใช้งานได้โดยการบอกรับเป็นสมาชิกผ่านทางระบบ Internet ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ |
กทท. ติดตั้งระบบ AIS เพิ่มที่สถานีชายฝั่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กำลังดำเนินการติดตั้งระบบ การแจ้งข้อมูลเรืออัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS ) ชนิดติดตั้งประจำสถานีชายฝั่ง ที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และสถานีสื่อสารปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมถึงบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา เพื่อตรวจสอบเรือสินค้าที่ผ่าน เข้า-ออกร่องน้ำเจ้าพระยา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับให้บริการ และเป็นข้อมูลสนับสนุนในการประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ เมื่อได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากเรือสินค้า และเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงานด้านการขนส่งทางน้ำทั้งแก่กทท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการแก่หน่วยงานเอกชน โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลของเรือสินค้าได้ตามเวลาจริงผ่านระบบ Internet อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศได้ในอนาคต โดยคาดว่าการติดตั้งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 ระบบ AIS เป็นระบบการกระจายข่าวสารด้วยเทคโนโลยีพื้นฐาน ซึ่งส่งสัญญาณภายใต้คลื่นวิทยุย่าน VHF Maritime Band ที่สามารถส่งข้อมูลดิจิตอลต่าง ๆ ของเรือ อาทิเช่น ชื่อเรือ ตำแหน่งเรือในปัจจุบัน ทิศทางเดินเรือ ขนาด ประเภท และระดับกินน้ำลึกของเรือ รวมทั้งข้อมูลของสินค้าอันตรายที่บรรทุกอยู่ ( ถ้ามี) จากเรือที่ติดตั้งเครื่อง AIS ไปยังสถานีชายฝั่งหรือเรืออื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อแจ้งให้เรือทุกลำที่อยู่ในรัศมีของคลื่นวิทยุ VHF ทราบตำบลที่อยู่และข้อมูลของเรือที่ติดตั้งเครื่อง AIS ได้ตลอดเวลา เพื่อการติดตามเฝ้าระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุกรณีที่ใช้เส้นทางเดินเรือร่วมกัน รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้กับสถานีชายฝั่งหรือสถานีควบคุมประจำท่าเรือที่ติดตั้งระบบ VTS ในการควบคุมการสัญจรของเรือในร่องน้ำหรือเรือที่เข้าออกจากท่าเทียบเรือ ซึ่งสถานีฯ สามารถเผยแพร่ข้อมูลสถานะของการเดินเรือที่ติดตั้งเครื่อง AIS ผ่านเครือข่าย Internet และ Intranet ที่เชื่อมต่อกับแฟ้มฐานข้อมูลสถานะการเดินเรือของระบบ AIS Base Station ได้ โดยทำการเผยแพร่ในรูปแบบ Webpage ผ่านเว็บไซต์ของท่าเรือหรือหน่วยงานที่ควบคุมนั้นๆ • ทั้งนี้ การให้บริการใน ระบบการแจ้งข้อมูลเรืออัตโนมัติหรือ AIS ของ กทท. เป็นการให้ บริการผ่านระบบเครือข่าย ICT ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถรับการบริการแบบ Real Time ได้ตลอดเวลา นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของ กทท. ในการพัฒนาการให้บริการข้อมูลระบบการขนส่งและการขนถ่ายสินค้าที่มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ต่อเนื่องหลายรูปแบบ ระหว่าง กทท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |